ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา

          โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา ประกาศจัดตั้งโดยกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2534  โดยใช้พื้นที่ของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยที่เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและบริเวณบ้านพักครู เป็นสถานที่ก่อสร้างสถานที่ดังกล่าวนี้ เดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสตรีประจำอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งนายจันทร์ สมบูรณ์กุล  นายอำเภอหาดใหญ่ ในขณะนั้นได้อนุญาต ให้ใช้พื้นที่นี้เป็นสถานที่ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2467 โดยมีคุณครูฉลวย ตะวันฉาย เป็นครูใหญ่ เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีอักษรย่อ ส.ข.4 และเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายจันทร์ สมบูรณ์กุล โรงเรียนจึงได้ใช้ ดอกจันทน์ เป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนและใช้สีกรมท่า– เหลือง เป็นสีประจำโรงเรียน ต่อมาปี 2497 จึงได้เปลี่ยนชื่อ เป็นโรงเรียนสตรีหาดใหญ่สมบูรณ์กุลกันยา
          เมื่อปี พ.ศ. 2509 กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะจัดการศึกษาแบบสหศึกษา จึงได้ยุบรวมโรงเรียนสตรีหาดใหญ่สมบูรณ์กุลกันยา กับโรงเรียนหาดใหญ่ (ม.ชาย) เข้าด้วยกันแล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ว่าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ใช้อักษรย่อ ญ.ว. และใช้สถานที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยปัจจุบันเป็นที่จัดการเรียนการสอนร่วมกัน โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยได้รับการพัฒนาทุกด้านจนโรงเรียนเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคใต้ จึงทำให้ผู้ปกครองในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียงส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนจำนวนมากทำให้การคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนมีการแข่งขันสูง ดร. โกวิทย์  วรพิพัฒน์ อธิบดีกรมสามัญศึกษาสมัยนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาประกอบกับได้เห็นความเดือดร้อนของผู้ปกครองที่ส่งลูกหลาน เข้ามาเรียนที่อำเภอหาดใหญ่ และไม่มีที่เรียนจึงได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งโรงเรียนมัธยมในเขตเทศบาลหาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก 1 โรงเรียน เพื่อรองรับนักเรียนที่ไม่มีที่เรียน
          17 มกราคม 2534 ประกาศจัดตั้ง “โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา”  และได้แต่งตั้ง นายวิรัช บุญนำ ผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ขณะนั้น รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่อีกหน้าที่หนึ่ง เปิดรับสมัครนักเรียนปีแรก จำนวน 300 คน โดยใช้สถานที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยและศูนย์ศิลปวัฒนธรรม จัดการเรียนการสอนร่วมกัน
          20 มิถุนายน พ.ศ. 2534 กรมสามัญศึกษาได้แต่งตั้ง นายสงบ  มณีพรหม มาดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่คนแรก ได้เริ่มพัฒนาบริเวณโดยปรับปรุงอาคารเรียนศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและรื้อบ้านพักครูทั้งหมดจำนวน 32 หลัง เอาไม้และกระเบื้อง ก่อสร้างเป็นอาคารเรียนชั่วคราว เพื่อวางแผนที่จะย้ายนักเรียนที่เรียนร่วมกับโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย มาเรียนในพื้นที่ของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยาเอง
          พ.ศ. 2535  นายสงบ มณีพรหม ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา ได้แยกการบริหารงบประมาณ อาคารสถานที่และบุคลากรออกจากโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย  ส่วนการเรียนการสอนยังคงเรียนร่วมกับโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย โดยโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยได้จัดสรรอัตราครู มาให้  6  คน   และมีครูมาช่วยราชการ 10 คน รวมเป็น 16 คน ส่วนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนและการรับนักเรียนยังคงบริหารจัดการร่วมกับโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ปีการศึกษา 2536 กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรงบประมาณ
มาให้ 110 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคาร เอนกประสงค์แบบเบ็ดเสร็จโรงเรียนได้เริ่มก่อสร้างอาคารได้ใช้เวลาในการก่อสร้างกว่าจะแล้วเสร็จเป็นเวลา 3 ปี
และในช่วงปี พ.ศ. 2539-2543 นายสงบ มณีพรหม ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา ได้พัฒนาโรงเรียนให้มีความเจริญในทุก ๆ ด้าน จนมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ในฐานะโรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีผลงานเด่นด้านต่างๆ ดังนี้
          - เป็นโรงเรียนที่ได้นำระบบ ISO 9002 มาปรับใช้ในระบบบริหารจัดการของโรงเรียน ทำให้โรงเรียนมีระบบการทำงานที่มีมาตรฐาน ส่งผลถึงคุณภาพของนักเรียนและคุณภาพทางวิชาการ โรงเรียนได้รับการ    ยกย่อง และได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย
          พ.ศ. 2540 ได้จัดการเรียนร่วมโดยให้มหาวิทยาลัยราชภัฎ สงขลา มาเปิดศูนย์การจัดการศึกษา ระดับปริญญาตรี และอนุปริญญาตรี ณ โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา เพื่อบริการประชาชนที่ด้อยโอกาส ให้มีโอกาสได้ศึกษาในระดับที่สูงขึ้นนอกจากนี้โรงเรียนยังได้พัฒนางานและบุคลากรอย่างไม่หยุดยั้งโดยใช้กระบวนการ PDCA (วงจรของเดมมิ่ง) จึงทำให้โรงเรียนมีคุณภาพเพิ่มขึ้น
          พ.ศ. 2543 นายวิทยา  รัตนอรุณ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาได้มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาทุกด้านอย่างต่อเนื่องทำให้โรงเรียนมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา นักเรียนและบุคลากรมีผลงานระดับชาติ เป็นที่ยอมรับและไว้วางใจอย่างกว้างขวาง 
          พ.ศ. 2549 นางสาวผ่องศรี  เรืองดิษฐ์  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่  10 กุมภาพันธ์  2549 – 30  กันยายน 2553 ได้พัฒนาการบริหารจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นโรงเรียนระบบดีมีคุณภาพ ปรับโครงสร้างและกลยุทธ์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา สนับสนุนบทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษาผู้ปกครองเครือข่ายและสมาคมศิษย์เก่า  โรงเรียนมีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับ  จนเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษที่มีความพร้อมสูงเป็นโรงเรียนยอดนิยมเป็นที่ยอมรับของชุมชน
          พ.ศ. 2554 – 2558 นายอุทิศ  คงอนุวัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2554– 30 กันยายน 2558   ได้พัฒนา และปรับภูมิทัศน์ของโรงเรียน เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น ได้ปรับระบบการบริหารจัดการโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สมาคมอาเซียน  โรงเรียนได้รับการจัดสรรอันดับเป็นโรงเรียนยอดนิยมของประเทศ
          พ.ศ.2558-2559 นายก่อศักดิ์  ศรีน้อย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558-30 กันยายน 2559 ได้พยายามทุ่มเทเวลาเร่งประสานงานเพื่อขออนุมัติสร้างอาคารเรียน 6 ชั้น จนเป็นผลสำเร็จ ขยายห้องจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษ วางแผนยุทธศาสตร์โรงเรียน ขับเคลื่อนการดำเนินงานโรงเรียนมาตรฐานสากล โดยการเข้าร่วมโรงเรียนนำร่อง การจัดการเรียนรู้แบบActive learning ด้วยกระบวนการ GPAS 5 steps และ การวัดผลประเมินผลแบบ Authentic Assessment ตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน ในศตวรรษที่ 21 เสริมสร้างบรรยากาศเชิงวิชาการ ทำให้นักเรียน ครูและบุคลากรมีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นที่ยอมรับและไว้วางใจ
          พ.ศ.2560-2563 นายเกษม ทองปัญจา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559-22 กันยายน 2563 ได้วางแผนพัฒนาการศึกษาโดยยึดหลักธรรมาภิบาล บริหารจัดการการศึกษาโดยเน้นการมีส่วนร่วมภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจนได้รับรางวัลผู้บริหารยอดเยี่ยมระดับเขตพื้นที่การศึกษา ส่งเสริมการใช้สื่อเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการศึกษาและวิจัยส่งเสริมการทำงานร่วมกันโดยใช้กระบวนการชุมชนทางการเรียนรู้ทางวิชาชีพ PLC พัฒนาวางแผนยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่องจนได้รับรางวัลสถานศึกษายอดเยี่ยมในการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน OBECQA ระดับโรงเรียนมาตรฐานสากลภาคใต้ พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษากระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสำคัญบนพื้นฐานของการมีจริยธรรมตามค่านิยมของโรงเรียนโดยใช้นวัตกรรม DGPa-YORSOR เป็นที่ยอมรับและรักใคร่ของเพื่อนครูและนักเรียน
          1 ตุลาคม 2563 – ปัจจุบัน นายเสรี อินทร์คง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา